20 กุมภาพันธ์, 2558

งานออกแบบ/สินค้าตัวนี้ห่วยจัง! เพราะคนทำมีฝีมือแค่นี้(จริงเหรอ???)

พอดีไปอ่านข่าว ขอเชิญร่วมวิจารณ์แนวทางการออกแบบ เว็บไซต์ธนาคารกสิกรไทยโฉมใหม่ และ อดีตหัวหน้าทีมดีไซน์ซัมซุงเผย ทำไมผลิตภัณฑ์ซัมซุงดีไซน์ออกมาห่วย ก็เลยอยากเขียนอะไรไว้หน่อย

** สำหรับสายงานที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบและเขียนโปรแกรมหรือITควรจะเข้าไปอ่านข่าวและคอมเมนท์เองด้วยนะ
** ล่าสุดเว็บกสิกรเปลี่ยนกลับเป็นแบบเดิมแล้วล่ะ (ภายใน1วันหลังจากlaunch 20 ก.พ.)

ส่วนใหญ่แล้ว ไม่ว่าธุรกิจอะไรก็ตามที่มีการขายสินค้าให้ลูกค้า ซึ่งในที่นี้พูดถึงทั้งเป็น "รูปธรรม (สิ่งของ hardware)" และ "นามธรรม (โปรแกรม เว็บ software)" นั้น สิ่งแรกที่ลูกค้าเห็นหรือเรียกว่าเป็น First Impression ให้เขาประทับใจหรือหรือยี้ในครั้งแรกเลยก็คือ UI - User Interface หรือ งานดีไซน์นั่นเอง


ล่าสุด กสิกรไทยได้ทำการปรับโฉมหน้าเว็บใหม่ ซึ่งก็ออกมาเป็นแบบรูปข้างบนนี่! ถ้าถามว่ามันสวยมั้ย?
คำถามนี้คงต้องย้อนถามก่อนว่า...

ถามใครล่ะ??

ถ้าคุณอยู่ในวงการพัฒนาเว็บไซต์หรือเป็นคนที่เล่นเว็บเปิดแอพประจำคำตอบ 90% น่าจะออกไปทาง "แย่มาก มันห่วยสิ้นดี!!" แต่รู้มั้ยว่าคำถามเดียวกันนี้ แต่ไปถามกับคนอีกกลุ่มหนึ่งคำตอบที่ได้อาจจะแค่ "ทำไมเหรอ ก็สวยดี(มั้ง)"

เอาล่ะ เชื่อว่าคนที่เข้ามาอ่านบล๊อกนี้น่าจะเป็นคนกลุ่มแรกมากกว่าที่เปิดเข้าเว็บไปปุ๊บก็บ่นเลยว่าใครออกแบบมาเนี่ย มันช่าง@#$%&*เหลือเกิน

ป.ล. เราก็ว่ามันไม่ได้แย่ขนาดนั้นนะ UI สวยดีแต่ UX ไม่ผ่าน -- สำหรับคนที่รู้จัก UI แต่ยังไม่รู้จัก UX ไปอ่านเพิ่มได้ที่นี่ จิ้มเลย!
ป.ป.ล. คนอีกกลุ่มที่ว่าคือกลุ่มที่ไม่ค่อยเล่นคอม/มือถือ หรือเล่นแต่เป็นคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ไม่ค่อยสนดีไซน์เท่าไหร่นะครับ ลองถามมาแล้ว คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะบอกว่าเว็บยุคใหม่ดีไซน์เรียบๆ นี่แหละที่มันไม่สวยเพราะมันไม่มีอะไร 555

แล้วออกแบบเช่นนี้มา มันไม่ดีตรงไหนเหรอ

เท่าที่อ่านคอมเมนท์ของแต่ละเจ้าที่มาวิจารณ์ ส่วนใหญ่จะบอกว่าหน้าเว็บนี้มันคงจะดี ถ้าเป็นยุคปี90s-ช่วงปี2000 ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ถูกจำกัดแค่ 800 x 600 px แล้วการออกแบบเว็บโดยใช้ Flash ทั้งหน้ายังเป็นที่นิยมอยู่

แต่นี่มันปีอะไรเข้าไปแล้วครับ 2015 ... 2015แล้วท่าน เดี๋ยวนี้เทรนด์เขานิยมเว็บคลีน ของไม่รก อ่านง่ายหาของง่าย และที่สำคัญคือต้อง Responsive เปิดในจอขนาดเท่าไหร่ก็ได้ตั้งแต่หน้าจอคอมไปจนถึง Smartphone พูดง่ายๆ คือดีไซน์ใหม่นี่มันไม่ตอบโจทย์พวกนี้เลย ให้ตายเถอะ! (ยิ่งคุณเห็นมันแล้วหงุดหงิดเท่าไหร่ แสดงว่าคุณมีความเป็น Developer/Power User เท่านั้น เพราะจากที่ไปถามมา End User จริงๆ จะบอกแค่ว่า "ก็สวยดี" เมื่อคุณไปถามเขา)

โอเคมาเข้าเรื่องกันดีกว่า...
(อ้าว แล้วที่เกริ่นมายืดยาวนี่ยังไม่เข้าอีกเหรอ 555 ยัง!)

เวลาเห็นงานออกแบบแล้วมันไม่สวยนี่ เพราะดีไซเนอร์ไม่เก่ง?

อย่างที่บอกไป ความประทับใจแรกของลูกค้า/ผู้ใช้คือหน้าตาสินค้า ถ้ามันไม่สวย คำถาม(บางที่ก็เป็นคำบ่นหรือด่าเลย)แรกๆ ที่เขาจะปิ๊งขึ้นมาในหัวคือ

"ใครออกแบบเนี่ย มันห่วยมากเลยนะ
ปล่อยผ่านมาได้ไงเนี่ย"

ขอให้รู้ไว้เลยครับ ว่านี่มันไม่ใช่ดีไซน์จริงที่ดีไซเนอร์ปล่อยออกมาหรอกนะ ดีไซน์ครั้งแรกเมื่อเทียบกับฉบับสุดท้ายถ้าเอามาเทียบกันคงต้องร้องว่านี่มันคนละงานกันชัดๆ

นั่นเป็นเพราะกว่างานดีไซน์จะเดินจากออกจากแผนกดีไซน์ ผ่านโปรแกรมเมอร์(หรือโรงงานที่สร้างถ้าของชิ้นนั้นเป็นสินค้าที่จับต้องได้) ผ่านฝ่ายตรวจสอบ ฝ่ายบริหารจน launch product ออกมาให้ลูกค้าเห็นนั้น งานออกแบบชิ้นนั้นเรียกว่าเดินทางมาไกลมาก ไกลจนมันค่อยๆ ถูกเปลี่ยนหน้าตาทีละนิดๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ จนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แล้วส่วนใหญ่ใครเป็นคนเปลี่ยนละ?

บอส/เจ้าของบริษัท/ฝ่ายบริหารไง! ที่สั่งเปลี่ยนบ่อยที่สุด อย่างเว็บกสิกรเนี่ย ตอนแรกอาจจะดีไซน์ออกมาเป็นเว็บคลีนๆ ตัวเลือกไม่เยอะสไตล์เว็บฝรั่งก็เป็นได้ แต่หลังจากเอาไปให้เจ้านายที่เป็นฝ่ายบริหารดูแล้วก็เป็นอย่างที่ทุกคนคาด

"ทำไมมันโล่งอย่างนี้ ใส่รูปใส่อะไรๆ ให้มันดูมีอะไรหน่อยสิ"

หรืออย่าง

"เดี๋ยวเดือนหน้าเราจะเปิดบริการตัวใหม่ เอาลิงค์ใส่ไว้ให้ด้วยนะ ทำให้มันกระพริบด้วย ลูกค้าจะได้สนใจ"

หรือเอาอีก

"ใส่รูปพรีเซนเตอร์ใหญ่ๆ เลยนะ ให้ลูกค้ารู้สึกอบอุ่นเวลาเข้ามา"

น่าจะประมาณนี้เนอะ ^o^

แล้วดีไซเนอร์ต้องทำยังไงล่ะ --> "เดี๋ยวเอามาปรับนะครับ/คะ"
นอกจากตอบรับแล้วตอบอย่างอื่นได้งั้นเหรอ ... จะมีบางเคสน่ะ ที่ต่อรองได้ แต่ส่วนใหญ่เขาก็มักจะรับฟังนะแต่ก็ยืนยันคำตอบเดิมอยู่ดี จบข่าว

แต่ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้นะ งานออกแบบของคุณอาจจะดีระดับได้รางวัลในสาขาออกแบบ แต่สำหรับโอกาสทางธุรกิจที่ฝ่ายบริหารมองแล้วมันไม่เวิร์คเอาซะเลย
อย่างเช่น
- ดีไซเนอร์รู้ว่าลูกค้าเกลียดโฆษณา แต่ถ้าไม่มีโฆษณาบริษัทก็ไม่ได้เงิน
- ดีไซเนอร์รู้ว่าลูกค้าต้องการเข้าเว็บมาแล้วหาสิ่งที่เขาต้องการเจอ แต่แบบนั้นก็ไม่ได้โปรโมตโปรโมชั่นล่อลูกค้าอันใหม่สิ
- ดีไซเนอร์รู้ว่าลูกค้าน่าจะต้องการแบบนี้ แต่มันทำเงินให้บริษัทไม่ได้เลย จบนะ

เนื่องจากฝ่ายบริหารหรือเจ้าของบริษัทเขาจ้างคุณมา คุณก็ต้องให้เขาเป็นคนตัดสินใจนั่นแหละ ถ้าอยากออกแบบเองทุกอย่าง ก็ต้องเปิดบริษัทเองแล้วตอนนั้นคุณจะเลือกดีไซน์แบบไหนก็ได้ (และถ้ามีการจ้างคนมาดีไซน์ให้ สิ่งที่คุณเคยบ่นๆ ไปเมื่อกี้ ก็จะได้รับการบ่นโดยลูกจ้างของคุณอีกทีนึง)

ในเมื่อคุณออกแบบได้แต่ตัดสินใจไม่ได้ งั้นทำไงดี

ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก คุณแสดงไอเดียแบบจัดเต็มได้ ให้เหตุผลได้ว่าทำไมถึงออกแบบมาแบบนี้ แต่หน้าที่ตัดสินใจไม่ใช่ของคุณ ดังนั้นทำใจไว้นิดหนึ่งนะว่างานของคุณอาจจะไม่ได้รับการนำไปใช้ก็เป็นได้ ... แต่นั่นคือหลังจากคุณ fight สุดใจ สู้เพื่อผลงานของคุณแล้วนะ

งานดีไซน์ในแบบเอเชีย VS ตะวันตก

จริงๆ เรียกว่างานดีไซน์ตามหัวข้ออาจจะไม่ได้ เรียกว่า กระบวนการในการสร้างงานดีไซน์ในแบบเอเชีย VS ฝรั่งตะวันตกจะดีกว่า

ทำไมบริษัท Apple ถึงออกแบบสินค้าได้สวยในขณะที่คนมองว่า Samsung นั้นไม่สวยบ้าง ลอกบ้าง

แต่อันนี้ก็แล้วแต่มุมมองนะ เพราะเรามองว่าสินค้า Apple นั้นสวยในแวบแรกแต่ถ้ามองไปนานๆ หรือลองใช้แล้วมันรู้สึกไม่สวย โล่งไป หาปุ่มคำสั่งไม่เจอ สู้งานออกแบบค่ายคู่แข่งไม่ได้ เพราะมันมินิมอลเกินไป

ก่อนอื่นต้องเข้าใจวัฒนธรรมเอเชียกับวัฒนธรรมของฝรั่งกันซะก่อน

เอเชีย สังคมสมานฉันท์ เราเป็นครอบครัว


ตั้งแต่เด็ก สำหรับสังคมเอเชียแท้ๆ จะเน้นการอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ บางบ้านมีตั้งแต่รุ่นอากงอาม่าจนถึงรุ่นหลาน มีระบบอาวุโส เราชินกับการอยู่รวมกัน ประนีประนอมกับทุกฝ่าย ไปไหนเจอใครครั้งแรกก็เรียก "พี่xxx/น้องxxx" ได้เลย

ความคิดนี้ส่งผลมาถึงการทำงานบริษัท แม้จะเป็นบริษัทระดับโลกอย่างซัมซุงแต่ค่านิยมแบบนี้ก็ฝังลึกไปแล้ว ถ้าทีมดีไซน์มีแต่คนเอเชีย ทีมมี10คนแต่ละคนมีคนละ1ไอเดีย เชื่อเถอะว่าจะมีไอเดียไม่ถึง10ไอเดียหลุดปากพูดออกมาในที่ประชุม

นั่นเพราะว่าสังคมเอเชียนั้นขี้เกรงใจ ถ้าเรื่องที่เราคิดมันขัดกับคนก่อนที่เขาเพิ่งเสนอไป ยิ่งคนตำแหน่งสูงกว่าเป็นคนพูดด้วย ไอเดียเราจะโดนเรานี่แหละเป็นคนลบมันทิ้งไปเลย หรือถ้าเกิดพูดออกไปละ ส่วนใหญ่ทั้งทีมก็จะหาข้อสรุปที่ไม่ทำร้ายจิตใจของเราของไอเดียให้โดยการปรับโน่นนิดปรับนี่หน่อย ปรับซะจนเรียกได้ว่า งานออกแบบออกมาเป็นเป็ด!

ที่เรียกว่าเป็ดเพราะเป็ดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ เดินก็ได้! ว่ายน้ำก็ได้! บินก็ได้! ... แต่มันทำไม่ได้ดีสักอย่าง

แต่ทั้งทีมอยากได้เยอะอ่ะ ทำไงให้ไม่ทะเลาะกัน ก็ต้องเอาไอเดียของทุกคนมาใช้ไง ตามนั้นนะ

ตะวันตก สัมคมปัจเจกชน มั่นใจในตัวเอง


แทบจะกลับกับสังคมเอเชีย สังคมของฝรั่งส่วนใหญ่จะเน้นความเป็นปัจเจกค่อนข้างมาก สังเกตเวลาดูหนังฝรั่ง เด็กวัยรุ่นส่วนใหญ่จะเริ่มออกไปทำงานและแยกตัวออกไปจากพ่อแม่เร็วมาก แค่ไฮสคูล ม.ปลาย บางคนก็ออกไปเช่าห้องอยู่เองแล้ว ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกของฝรั่งด้วยนะ เพราะเขามองว่าคนที่จบมหา'ลัยแล้วยังอยู่บ้านพ่อแม่อยู่อีกเป็นเรื่องน่าอายมาก

เพราะถูกฝึกแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก ฝรั่งเลยมีความมั่นใจในตัวเองและความกล้าแสดงออกมากกว่า ดังนั้นสังคมของฝรั่งจะไม่เน้นเรื่องความสมานฉันท์แบบเอเชีย เวลามีงานออกแบบถ้าทำเป็นทีมก็จะแย้งกันเต็มที่ไม่กลัวอีกฝ่ายเสียหน้า อย่างที่ในข่าวต้นฉบับบอกเอาไว้ว่า "เน้นความเป็นปัจเจกของดีไซเนอร์ เต็มไปด้วยอีโก้ และมั่นใจว่างานดีไซน์ของตัวเองดีเยี่ยม (เรียกอาการนี้ว่า Steve Jobs Syndrome)"

งานดีไซน์ของฝรั่งเลยออกมาดูเป็นธีมหรือแนวทางของตัวเอง ไม่มั่วไปเรื่อยๆ แบบบริษัทเอเชีย ทีมผู้บริหารก็ไม่ยุ่งกับทีมออกแบบ ให้สิทธิ์เต็มที่ คุณคิดอะไรจัดมาเลย เราไม่ก้าวก่าย

สรุป...

หน้าตาสินค้าจะออกมาเป็นยังไง ไม่ได้อยู่ที่ดีไซเนอร์อย่างเดียว แต่อยู่ที่ระบบบริษัทด้วย 
สั้นๆ คือแนวเอเชียจะเน้น แนวทางออกแบบแบบผสม ออกแบบให้ทุกคนใช้ได้ เน้นขายให้หลากหลาย กำไรไม่เยอะ แต่ปริมาณเยอะ ... ส่วนฝรั่งจะชอบออกแบบแบบยึดแนวคิดของดีไซเนอร์เป็นหลัก ของที่ออกมาเลยเป็นแบบ สินค้าเฉพาะตัว กำไรมาก แต่ขายได้เฉพาะกลุ่มมากกว่า

ถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน ตอบไม่ได้หรอก ต้องลองเอง แต่สินค้า made in China ขายได้ทั่วโลกก็เพราะใช้วิธีแบบเอเชียนะ (การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน เอ๊ะ เกี่ยวมั้ย 555)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น