บล๊อกนี้เราพยายามรวบรวมเรื่องที่ตัวเองคิดทำแล้วเกิดประโยชน์มาก ไม่ก็ถ้ากลับไปได้จะทำตั้งแต่ตอนเรียน แต่ถามว่าไม่ทำแล้วใช่เรื่องใหญ่คอขาดบาดตายมั้ย ... ไม่เลย!
มันก็เป็นแค่เรื่องที่ "ควร" ทำเท่านั้น ไม่ใช่ "ต้อง" ทำ
1.วางแผนอนาคต (นิดหน่อยก็ยังดี)
น้องๆ หลายคนมักจะคิดว่าการสอบเข้ามหา'ลัยได้คือที่สุดแล้ว มันคือการปลดปล่อยจากการสอบเข้าอันเหนื่อยล้า ความคิดแบบนั้นแหละทำให้น้องเฉื่อยและไม่ตั้งใจเรียน (ไม่ตั้งใจเรียนก็ยังไม่เท่าไหร่นะ) และที่ร้ายที่สุดคือลืมเป้าหมายชีวิตจริงๆ ของตัวเองเราจะต้องทำงานหาเงิน ที่นี่คือสถานที่สุดท้าย นับถอยหลัง 4 ปี ใช้มันให้คุ้ม อย่าปล่อยผ่านไปวันๆ ล่ะ
แล้วนิยามของการ "ใช้มันให้คุ้ม" มีอะไรบ้าง?
- คนชอบเรียน ก็เรียนไป แต่ระวังไว้ด้วยว่าพอทำงานแล้วไม่มีคนคิดโจทย์แล้วเอามาให้คุณแก้ แต่เขาจะให้คุณคิดโจทย์เอง แก้โจทย์เอง
- คนชอบเล่น ก็เล่นไป จะเล่นเกม เล่นกีฬา เที่ยว ก็ทำไป ถือว่าปลดปล่อยครั้งสุดท้ายก่อนจะเจองานหนัก แต่อย่างเล่นอย่างเดียว หาความรู้สำหรับใช้ทำงานด้วย ใช้คำว่าหาความรู้นะ ไม่ใช่ทำเกรดให้ดี ... แต่อย่างว่า ถ้าคุณมีความรู้ เกรดจะเป็นผลพลอยได้เอง
- คนเบื่อเรียน ก็ไม่โฟกัสที่การเรียนมาก ลองรับงานมาทำ คุณอาจจะเป็นเลิศในการทำงานมากกว่าการเรียนก็ได้นะ
2. สนความรู้+ประสบการณ์ดีกว่า .. เกรดไม่ใช่ทุกอย่าง (แต่ใช่ว่ามันไม่สำคัญ)
น้องๆ ส่วนใหญ่มักจะมองว่าเกรดที่อยู่บนผลการเรียนของเราตอนปลายเทอมคือตัวตัดสินทุกอย่าง แต่มันไม่ใช่เลย!"ความรู้(สักอย่าง)" หรือ "ประสบการณ์(สักอย่าง)" ตั้งหากที่เราควรจะโฟกัสไปหาในระหว่างเทอมที่ผ่านมา ถ้าน้องไม่ได้ตั้งเป้าจะเรียนต่อหรือทำงานในสายวิชาการ เกรดมันก็มีความสำคัญแค่ 4 ปีในรั้วมหา'ลัยเท่านั้นแหละ อ้อ พูดอย่างนั้นก็ไม่ถูกนั้น มีผลการสมัครงานครั้งแรกนิดหน่อยด้วยเหมือนกัน
ลองคิดดูว่ามหาวิทยาลัยนี่น่ะ มันคือสถานที่สุดท้ายก่อนที่เราจะออกไปสู่โลกในชีวิตจริงๆ โลกที่ต้องทำงานหาเงิน แล้วอะไรที่ใช้ทำงานหาเงินได้? เกรดตอนเรียนหรือว่าความรู้ล่ะ
คำตอบคือความรู้ละนะ คนที่ได้เกรดไม่ดีแต่มีสกิลในการหาเงินมากกว่าอาจจะประสบความสำเร็จในชีวิตได้มากกว่าคนที่เรียนเป็นอย่างเดียวก็เป็นได้
คนดังของโลกยุคนี้หลายคนที่ละการเรียนในมหา'ลัยออกไปทำงานตามความฝันตัวเองเลยเพราะว่าเขาพวกนั้นพบว่าการเรียนที่อาจารย์สอนนั้นไม่ตอบโจทย์เขาเลย ประมาณว่าสอนไปทำอะไรเนี่ย ฉันอยากรู้เรื่องนี้ๆๆ มากกว่านะ
แต่! ... ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำแบบนั้นได้นะ อาจจะเป็นหนึ่งในร้อย หรือ หนึ่งในพัน ดังนั้นน้องๆ ที่อ่านบทความนี้อยู่ก็อย่าเพิ่งละทิ้งการเรียนในมหาวิทยาลัยไปล่ะ แค่พยายามโฟกัสที่ความรู้ที่ได้ให้มากกว่าคะแนนก็พอ วิธีทดสอบว่าตัวเองโฟกัสที่คะแนนจริงแล้วรึเปล่าสังเกตง่ายๆเลย ... คุณจะตื่นเต้นและดีใจเมื่อเข้าใจอะไรที่เรียนเรื่องใหม่ๆ (ไม่จำเป็นต้องตรงกับเนื้อหา อาจจะเป็นเรื่องเล่าของอาจารย์ที่ทำให้เราปิ๊งบางอย่างก็ได้) แต่คุณจะเฉยๆ เวลาเห็นเกรด ก็งั้นๆ แหละ ฉันรู้ตัวดีว่าฉันมีความรู้แล้ว เกรดไม่ใช่ตัวตัดสิน
3. ลองทำงานจริงให้ได้มากที่สุด
การบ้าน ข้อสอบ กับโปรเจคในห้องเรียนมันไม่ทำให้น้องๆ รู้หรอกว่าจบไปทำงานน้องๆ จะเจออะไรบ้าง- เคยรู้มั้ยว่า "ลูกค้าผู้น่ารัก" เป็นยังไง ระดับอาจารย์ตรวจโปรเจคน่ะเหรอเด็กๆ ไปเลย
- เคยรู้มั้ยว่า วิชาที่คุณถนัดเหลือเกินมันไม่มีใครใช้แบบนั้นแล้ว
- อยากรู้มั้ยว่าบางเรื่องที่เรียนแล้วบ่นตลอดว่าไม่เห็นจะได้ใช้ มันเอาไปใช้ทำอะไร
วิธีแก้ก็คือหาคำตอบพวกนั้นให้ได้ก่อนที่จะเรียนจบ จะได้มีเวลาแก้ตัวก่อนออกไปลุยสนามจริงๆ แต่ในเมื่อมหา'ลัยไม่สอน คุณก็ต้องหามันด้วยตัวเองล่ะ ลองรับงานจริงๆ จากลูกค้าจริงๆ ดู อาจจะเป็นจากเพื่อนๆ หรือประกาศในเน็ตว่าเป็นนักศึกษา อยากลองงาน ค่าจ้างถูกๆ ก็ได้นะ
แล้วคุณจะรู้ว่า "ลูกค้า" เป็นยังไง อารมณ์มันไม่เหมือนเราทำงานส่งอาจารย์แน่นอน ความกดดัน ความเครียด ความกังวลมันจะต่างกันเลย ยิ่งถ้าเป็นลูกค้าที่โทรตามงานบ่อยๆ นะบอกเลยว่าสนุกมาก (ประชดนะ ฮา)
4. ใช้สถานะ "นักศึกษา" ให้คุ้มที่สุด
บริษัทมากมายที่ชอบรับนักศึกษาไปฝึกงาน (ใช้งาน) แต่ถ้าน้องๆ จบมาแล้วจะไปเอาสถานะนักศึกษาจากที่ไหนอีกล่ะ ตอนนั้นมันไม่ใช่การฝึกงานแล้ว มันเป็นการ "ทดลองงาน" แล้วรู้มั้ยว่าการฝึกงานกับการสมัครงานแล้วเขาลองงานเรา 3 เดือน (ที่เขาเรียกกันว่า จะผ่านหรือไม่ผ่านโปรฯ น่ะ) มันต่างกันเยอะนะถ้าน้องเขาไปบริษัทในฐานะนักศึกษา -> พี่ๆ จะมองว่ามีน้องใหม่มาฝึกงาน ต้องดูแล ต้องสอนงาน ให้น้องเป็นงาน
แต่ถ้าน้องเข้าไปในฐานะนักศึกษาจบใหม่มาสมัครงาน -> พี่ๆ จะมองว่าน้องคนนี้เป็นพนักงานใหม่ อาจจะมีสอนงานให้บ้าง แต่ก็ไม่ต้องมากหรอก สมัครผ่านมาได้น่าจะเป็นงานพอสมควรแล้ว รับโปรเจคไปลองทำเลยละกัน
ดังนั้นถ้ายังอยากเรียนรู้อะไรอยู่ พยายามทำตัวเป็นนักศึกษาไว้ก่อนนะ โอกาสก็มีช่วงปี3-4 และหลังจบปี4 (ช่วงที่เป็นรอยต่อ ยังพอจะใช้สถานะนักศึกษาได้อยู่)
---
ตอนนี้คิดได้เท่านี้ เอาไปแค่ 4 ข้อก่อนละกัน
สรุป...
ลองคิดว่ามหา'ลัยเป็นที่เตรียมตัวสำหรับชีวิตทำงานแบบผู้ใหญ่ คุณมีเวลา 4 ปีในการเตรียมพร้อมตัวเองให้มากที่สุด ลองปรับมุมมองตัวเอง ทุกคนทำได้ถ้าเชื่อมั่นในตัวเอง ชีวิตทำงานไม่ได้วัดกันที่คะแนน บางครั้งความตั้งใจและดวงก็ใช้เอาชนะได้จาก ... คนที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว ^ ^
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น